วิศวกรโยธาได้เจาะสำรวจดิน บ้านพักอาศัยบนฐานแผ่
จากรายงานทางสถิติในรอบ 25 ปี ที่ผ่านมาของสถาบันวิศวกรโยธา (Institution of Civil Engineers) ในประเทศอังกฤษพบว่า โครงการทางวิศวกรรมโยธาและงานอาคาร มีปัจจัยความเสี่ยงทางด้านเทคนิคและทางด้านการเงินที่สูงที่สุด โดยทั่วไปความเสี่ยงมักตกอยู่ที่งานดินหรืองานใต้ระดับผิวดินปัญหางานดินและปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกันทำให้งานล่าช้ากว่ากำหนด และงบประมาณสูงกว่าที่ประมาณการไว้ มีผลให้ต้นทุนโครงการก่อสร้างอาคารนั้นสูงขึ้น และเสียโอกาสที่จะใช้ประโยชน์ก่อนหรือภายในกำหนด ทำให้พลาดศักยภาพความได้เปรียบในการแข่งขัน ในปี พ.ศ. 2553 เศรษฐกิจและการก่อสร้างของประเทศไทยขยายตัวมาก ผู้รับเหมาก่อสร้างมักจะไม่ยินยอมเซ็นสัญญางานโครงการที่กำหนดให้งานใต้ดินรวมอยู่ในระยะเวลาแล้วเสร็จของโครงการตามสัญญา เนื่องจากงานใต้ดิน/ฐานราก ส่วนใหญ่มักเป็นงานที่อยู่นอกเหนือการควบคุม และไม่สามารถกำหนดล่วงหน้าให้ถูกต้องแม่นยำได้ จากการสำรวจโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ทั้งงานอาคาร งานทางหลวง และงานโครงสร้างพื้นฐานที่ล่าช้ากว่า พบว่า ต้นทุนการก่อสร้างโดยเฉลี่ยแล้วจะสูงขึ้นมากกว่างบประมาณก่อสร้างที่ประมวลได้ ซึ่งครึ่งหนึ่งของต้นทุนที่สูงขึ้นนี้มักเกิดจากแผนด้านการเจาะสำรวจดินไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ หรือจากการประมวลผลแปลค่าเพื่อนำผลลัพธ์ข้อมูลงานดินนี้ไปใช้ไม่ถูกต้อง
จากการสำรวจอุตสาหกรรมก่อสร้างในงานอาคารและงานโรงงาน พบว่า อุปสรรคสำคัญในการก่อสร้างงานใต้ดิน คือ สิ่งกีดขวางของระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ และฐานราก ซึ่งไม่สามารถหาข้อมูลตำแหน่ง และรายละเอียดต่าง ๆ ได้ชัดเจนเพียงพอ นอกจากนี้ปัญหางานดินยังรวมไปถึงปัญหาของบ่อฝังกลบขยะ หรือกากอุตสาหกรรม หรือบริวเณดินที่ร่องน้ำไหลผ่านตำแหน่งที่ทิ้งของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม
นอกจากบริเวณที่ไม่อาดคาดเดาสภาพชั้นดินล่วงหน้าดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ยังได้พบปัญหาจากการทรุดตัวต่างกันของฐานราก ซากบ่อหรือตอม่อเก่า อุโมงค์ ปล่อง ตาน้ำที่พุขึ้นมา โดยไม่ทราบที่มา น้ำท่วมขังพื้นที่ การต่อเติมเสริมฐานรากของอาคารข้างเคียง สภาพคล้ายมีหินแทรกปนอยู่ สภาพชั้นดินไม่สม่ำเสมอหรือสภาพที่พบชั้นน้ำใต้ดินไม่คาดดิด ซึ่งถ้าได้มีการเจาะสำรวจดินตามหลักวิศวกรรมปฐพีกลศาสตร์ ก็จะได้ข้อมูลที่นำไปสู่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงการออกแบบโครงสร้างได้แต่แรกเริ่ม
ในกรณีอาคารสูง 1-2 ชั้น เช่น บ้านพักอาศัย โดยทั่วไปนิยมตั้งอยู่บนฐานแผ่ ซึ่งชั้นดินระดับนี้ส่วนใหญ่มีการทรุดตัวสูง มีจุดอ่อนตัวใต้ฐานแผ่ที่ตั้งอยู่บนดินเหนียว การยุบตัวของชั้นดินเหนียวจากการผุพังของซากพืช การทรุดตัวอย่างรวดเร็วของดินถมใหม่ กาวิบัติของฐานรากบนชั้นดินอ่อน ความไม่มีเสถียรภาพของเชิงลาด หรือการอ่อนตัวลงของชั้นดินเนื่องจากน้ำใต้ดิน การเกิดปฏิกิริยาทางเคมีจากของเสีย ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป ถ้าวิศวกรโยธาได้มีการกำหนดให้มีการเจาะสำรวจดิน ออกแบบกำลังรับน้ำหนักของดิน ว่าชั้นดินที่ลึกลงไปนั้น ชั้นไหนเป็นชั้นดินแข็งที่จะสามารถรองรับน้ำหนักของโครงสร้างของตัวบ้านได้ เพื่อจะได้ออกแบบให้ฐานรากอยู่ลึกลงกว่าได้